อาการปวดฟัน ไม่ควรปล่อยไว้! เพราะอาจถึงแก่ชีวิต……
อาการปวดฟัน หมายถึง อาการปวดรอบฟันหรือขากรรไกร ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นผลมาจากสภาพฟันผุ ฟันคุด ฟันแตก ฟันสึก เหงือกอักเสบ หรือกระดูกรอบฟันอักเสบ นอกจากนี้อาการปวดฟันยังอาจเป็นอาการปวดจากโรคอื่น ๆ แล้วปวดร้าวส่งต่อมาที่ฟัน ส่งผลให้ดูเหมือนปวดฟัน เช่น จากโรคไซนัสอักเสบ โรคทางหู และโรคหลอดเลือดหัวใจ โดยอาการปวดฟันนี้จะไม่สามารถหายไปเองได้ หากไม่ได้รับการรักษาที่ต้นเหตุโดยทันตแพทย์ แต่ก็สามารถบรรเทาอาการให้ปวดน้อยลงได้ในช่วงระยะหนึ่งก่อนที่จะไปพบทันตแพทย์
-
เมื่อมีอาการปวดฟันควรทำอย่างไร
ควรรีบไปพบทันตแพทย์ อย่าเข้าใจผิด คิดว่าปวดฟันจะไม่ทำให้เสียชีวิต เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อจนเกิดผลข้างเคียงร้ายแรงได้ เช่น มีไข้ มีอาการปวดฟันรุนแรงมากขึ้น เหงือกหรือช่องปากบวม ซึ่งจะทำให้การรักษายากขึ้นหรืออาจจำเป็นต้องถอนฟัน นอกจากนี้การอักเสบติดเชื้อยังอาจส่งผลต่อการอักเสบติดเชื้อของอวัยวะอื่น ๆ จากการที่เชื้อโรคแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด เช่น โรคเยื่อบุหัวใจอักเสบ
อาการปวดฟันส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากโรคฟันผุ ถ้าไม่ได้รับการรักษาทันที เชื้ออาจแพร่กระจายไปยังปลายรากฟันเข้าไซนัสก่อให้เกิดไซนัสอักเสบ และแพร่กระจายไปในกระแสเลือดทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนที่รุนแรงดังกล่าว ซึ่งจะทำให้ยากต่อการรักษา
ดังนั้น เมื่อเริ่มมีอาการปวดฟันเกิดขึ้น จึงควรรีบไปพบทันตแพทย์เสมอภายใน 1-2 วัน และควรระลึกไว้เสมอว่าการหาวิธีแก้ปวดต่าง ๆ เช่น การรับประทานยาแก้ปวด ฯลฯ จะสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น เพราะไม่ใช่การรักษาที่สาเหตุ
วิธีแก้ปวดฟัน
การระงับอาการปวดฟันชั่วคราวมีอยู่ด้วยกันหลายวิธี เช่น
- การทำความสะอาดเศษอาหารที่ติดฟัน เป็นวิธีแรก ๆ ที่ควรทำก่อนจะใช้วิธีบรรเทาอาการปวดอื่น ๆ โดยควรใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดเศษอาหารที่ติดตามซอกฟันทั้งสองด้านในบริเวณที่มีอาการปวดอย่างระมัดระวัง จากนั้นให้บ้วนปากและกลั้วปากด้วยน้ำอุ่นเพื่อให้เศษอาหารหลุดออก เสร็จแล้วจึงบ้วนน้ำทิ้ง
- หลีกเลี่ยงการกระทบกระแทกบริเวณที่มีอาการปวดฟัน จนกว่าอาการปวดฟันอีกด้านจะหายไป เพราะอาการปวดฟันจะเป็นมากขึ้น ถ้าฟันซี่นั้น ๆ ถูกกระแทกบ่อย ๆ วิธีการง่าย ๆ ก็คือ การรับประทานอาหารที่ไม่ต้องใช้แรงเคี้ยว เช่น อาหารนิ่ม ๆ ไม่ควรเคี้ยวอาหารแข็ง ๆ หรือเหนียว ๆ ที่ต้องใช้แรงบดเคี้ยวมาก หรือให้เลี่ยงไปเคี้ยวอาหารอีกด้านหนึ่งของช่องปากแทน
- บ้วนปากด้วยไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (Hydrogen peroxide) ที่มีความเข้มข้น 3% สักพัก ซึ่งจะช่วยกำจัดเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของอาการฟันผุได้
- การรับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล (Paracetamol), แอสไพริน (Aspirin) หรือไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เพื่อช่วยลดอาการปวดจนกว่าจะไปพบทันตแพทย์ได้ ซึ่งโดยปกติจะรับประทานยาแก้ปวดครั้งละ 1-2 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง (ควรอ่านวิธีใช้ยาจากฉลากเพื่อรับประทานยาในปริมาณที่เหมาะสม) สำหรับยาแอสไพรินชนิดผงหรือเม็ดหรือยาแก้ปวดชนิดอื่น ๆ อย่าใส่ลงไปในรูฟันผุหรือบริเวณที่ปวดโดยตรง เพราะนอกจากจะไม่ได้ช่วยบรรเทาอาการปวดฟันแล้วความเป็นกรดอาจทำให้แก้มและเหงือกบริเวณใกล้เคียงเป็นแผลได้ด้วย
- อุดฟันชั่วคราว คุณอาจลองอุดโพรงหรือช่องในฟันที่ทำให้เกิดอาการปวดได้ด้วยตัวเอง โดยการใช้หมากฝรั่งหรือขี้ผึ้งสำหรับฟันจนกว่าจะไปพบทันตแพทย์ หรือตามร้านขายยาก็มีชุดอุดฟันชั่วคราวขาย (ทำมาจากซิงค์ออกไซด์หรือส่วนประกอบที่คล้ายกัน) ซึ่งมันจะช่วยลดแรงกดที่กระทบฟันและอยู่ได้นานถึง 2 สัปดาห์
- การกดจุดแก้ปวดฟัน เป็นวิธีที่ช่วยระงับอาการปวดฟันได้ชั่วคราวเหมือนการรับประทานยาแก้ปวด
ดูได้ในหัวข้อด้านล่างเลยจร้าาา
กดจุดแก้ปวดฟัน
- จุดเหอกู่ ให้คว่ำฝ่ามือลง นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้แนบชิดติดกัน โดยจุดเหอกู่จะอยู่ตรงจุดสูงสุดของกล้ามเนื้อที่นูนขึ้นมาระหว่างนิ้วทั้งสอง (การหาจุดกดอีกวิธีคือให้กางหัวแม่มือและนิ้วชี้ออก แล้วให้ใช้นิ้วหัวแม่มืออีกข้าง (ตรงรอยแบ่งข้อหัวแม่มือข้อแรก) ทาบลงบนกลางง่ามมือ) แล้วให้ใช้นิ้วหัวแม่มือข้างหนึ่งกดอีกข้างหนึ่ง (ในกรณีที่กดตัวเอง) หรือให้คนอื่นกดให้ โดยใช้หัวแม่มือกดจุดทั้งสองพร้อม ๆ กัน (ใช้ในกรณีปวดฟันบน ถ้าปวดด้านซ้ายให้กดจุดเหอกู่ที่มือขวา ถ้าปวดด้านขวาให้กดจุดเหอกู่ที่มือด้านซ้าย)
- จุดเจี๋ยเชอ ให้กัดฟันทั้งสองข้าง โดยจุดเจี๋ยเชอจะอยู่ตรงรอยนูนขึ้นของกล้ามเนื้อตรงแก้มทั้งสองข้าง แล้วให้ใช้หัวแม่มือกดและคลึงเบา ๆ บนจุดเจี๋ยเชอ (การกดจุดในตำแหน่งนี้ใช้ในกรณีที่ปวดฟันล่าง ถ้าปวดด้านใดก็ให้กดด้านนั้น)
- จุดหยาท้ง จะอยู่ในตำแหน่งระหว่างนิ้วที่ 3 และ 4 บนฝ่ามือ ใต้ง่ามนิ้วประมาณ 1 นิ้ว แล้วให้ใช้นิ้วหัวแม่มือกดและคลึงเบา ๆ บนจุดหยาท้ง (การกดจุดในตำแหน่งนี้ให้ใช้กดเมื่อปวดทั้งฟันบนและฟันล่าง หรือปวดเฉพาะฟันบนหรือฟันล่าง และถ้าปวดด้านใดก็กดบนมือด้านนั้น)
โปรดทราบว่าการกดจุดระงับอาการปวดฟันนี้สามารถระงับอาการปวดฟันได้ชั่วคราวเท่านั้น (เหมือนการรับประทานยาแก้ปวด) และควรได้รับการรักษาที่ต้นเหตุ
อ้างอิงจาก : หาหมอดอทคอม. “ปวดฟัน (Toothache)”. (รศ.ทพ.เชวงเกียรติ แสงศิรินาวิน).
บทความอื่นที่น่าสนใจ : สัญญาณเตือน โรคเส้นเลือดในสมองตีบ