การกำเนิดบันไดเลื่อนแห่งแรกในโลก

จาก Escalator สู่ escalator กำเนิดบันไดเลื่อน

กำเนิดบรรไดเลื่อน ต้นแบบของบันไดเลื่อนที่เป็นตัวเป็นตนจริงๆ เกิดจาก ฝีมือของเจสซีรีโน (Jesse Reno) ในปีค.ศ. 1891 (พ.ศ.2434– ตรงกับรัชกาลที่ 5 ของไทย) แต่เปิดตัว เป็นครั้งแรกในอีก 4 ปี ต่อมาคือ ค.ศ.1895 ณ สวนสนุกบนเกาะโคนีย์ (Coney Island) ในมลรัฐนิวยอร์กสหรัฐอเมริกา คนที่จะใช้สิ่งประดิษฐ์ของรีโนหากเป็นชายก็จะขี่คร่อมขึ้นไปแต่หากเป็นหญิงก็จะนั่งหันข้าง ( เหมือนสาวๆ ซ้อนมอเตอร์ไซด์สมัยนี้) โดยเครื่องจะพาขึ้นไปสูงแค่ 7 ฟุต (ราวสองเมตรกว่าๆ) ด้วยมุมเอียง 25 องศา และเร็ว 75 ฟุตต่อนาที หากลองคำนวณดูคร่าวๆ ก็จะพบว่า นั่งเพียงแค่ 13 วินาทีก็ถึงจุดหมายแล้ว เพราะนี่เป็นเพียง ‘ของเล่น’ ในสวนสนุก เท่านั้น

ส่วนคนแรกที่เสนอไอเดียสุดเก๋ไก๋เป็นชาวอเมริกัน ชื่อ นาธาน เอเมส (Nathan Ames) แบบร่างสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้มองด้านข้างคล้ายรูปสามเหลี่ยม และขับเคลื่อนด้วยพลังไอน้ำ แต่ดูเหมือนว่าคุณปู่เอเมสจะไม่ได้สร้างขึ้นมาจริงๆ ดังนั้น ชื่อของเอเมสจึงไม่ค่อยมีคนอ้างถึงกันนัก ดีที่ว่ามีหลักฐานเป็นสิทธิบัตรของอเมริกาที่ออกให้เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ค.ศ. 1859 หลงเหลืออยู่

ส่วนรีโน ก็เปิดบริษัทชื่อ The Reno’s Electric Stairway and Conveyor Organization (องค์กรบันไดไฟฟ้าและสายพานลำเลียงของรีโน) และปรับปรุงสิ่งประดิษฐ์ของตนจนใช้งานได้ในห้างร้านโถงแสดงสินค้าและสถานีรถไฟในราวปีค.ศ. 1900 ในช่วงใกล้ๆ กันนั้นเองมียอดนักประดิษฐ์อีก 2 คน คือจอร์จวีลเลอร์ (George A.Wheeler) และชาลส์ซีเบอร์เกอร์ (Charles D. Seeberger) ต่อยอดความคิดของรีโนออกไป โดยวีลเลอร์ออกแบบและคิดกลไกอย่างละเอียด ที่สำคัญคือขั้นบันไดในแนวราบ ส่วนซีเบอร์เกอร์ได้ซื้อสิทธิบัตรของวีลเลอร์ไปพัฒนาต่ออีกทีและได้ขายสิทธิบัตรให้บริษัท โอทิส (Otis)บริษัทนี้หลายคนคงจะคุ้นๆ ชื่อ เพราะเขาเป็นยักษ์ใหญ่ในการผลิตลิฟต์โดยสารนั่นเอง (ลองดูลิฟต์ที่คุณใช้อยู่ เผลอๆ อาจเป็นยี่ห้อนี้ก็ได้)ชาลส์ ซีเบอร์เกอร์ นี่เองที่เป็นคนคิดคำว่าEscalator (เอสเคเลเทอร์) ซึ่งมาจากคำว่า Scala(ภาษาลาตินแปลว่า ขั้น) + Elevator (ลิฟต์โดยสาร– ซึ่งมีอยู่แล้วในขณะนั้น) สังเกตดีๆ จะเห็นว่าตัว E ในคำว่า Escalator เป็นตัวใหญ่ เพราะถือว่าชื่อนี้เป็นชื่อทางการค้าที่สงวนให้ใช้กับบริษัทโอทิสเท่านั้น

 

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงปี ค.ศ. 1950 สำนักงานสิทธิบัตรของอเมริกาได้ตัดสินว่าคำๆนี้เป็นคำสามัญที่ใช้กันโดยทั่วไป ทำให้คำว่า escalator เขียนขึ้นต้นด้วยตัว e เล็กเหมือนคำศัพท์ โดยทั่วไปมีประเด็นสำคัญที่น่าจะย้อนเวลากลับไปสักหน่อยคือ ในปีค.ศ. 1911 บริษัท โอทิส ได้ฮุบบริษัทของ รีโน และต่อมาในราวทศวรรษที่ 1920 วิศวกรของโอทิสชื่อ เดวิด ลินด์ควิสต์ (David Linquist) ก็ได้พัฒนาบันไดเลื่อนโดยผนวกดีไซน์ของรีโนและซีเบอร์เกอร์เข้าด้วยกัน จนได้บันไดเลื่อนที่มีหน้าตาคล้ายในปัจจุบันจากนั้นมา บันไดเลื่อนก็แพร่กระจายออกไปทั่วโลก เช่น อังกฤษ (ปีค.ศ. 1911) และญี่ปุ่น (ปีค.ศ. 1914)

 

 

รู้จักบันไดเลื่อนตัวแรกในอังกฤษ บันไดเลื่อนตัวแรกในกรุงลอนดอนติดตั้งที่ Earls Court Station บันไดนี้เลื่อนด้วยความเร็ว
90 ฟุตต่อนาที หนังสือพิมพ์ The Illustrated London News ฉบับวันที่ 14 ตุลาคม 1911 บันทึกข้อความ ตอนหนึ่งว่า “อุปกรณ์อันน่าพิศวงนี้ได้ผนวกความ เพลิดเพลินเข้ากับกิจธุระ และมีคนจำนวนไม่น้อย ได้ใช้ขึ้น-ลงหลายต่อหลายเที่ยวด้วยความรู้สึกตื่นเต้นเร้าใจ”

ในบ้านของเรานั้น ห้างสรรพสินค้าไทยไดมารู ราชประสงค์ เป็นสถานที่แห่งแรกที่มีบันไดเลื่อน ห้างนี้เปิดบริการเมื่อ วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2507 (ค.ศ.1964) (จำได้ว่าตอนเด็กๆ มีคนแกล้งเรียกชื่อห้างนี้เพี้ยนจาก ‘ไทยไดมารู’ ไปเป็น ‘กระไดเป็นรู’ …ฮิฮิ)

 

 

บันไดเลื่อนนั้น ถ้าใช้เพลินๆ ไปก็สบายดี แต่บางทีก็อาจทำให้เราได้ฉุกคิดอะไรได้บ้างเหมือนกัน อย่างในห้างสรรพสินค้าบางแห่งนั้น บางช่วงเวลาเขาจะเปิดบันไดเลื่อนเฉพาะ “ขึ้น” อย่างเดียว ส่วน “ลง” ต้องเดินเอง 555 ทำให้รู้สึกได้เลยว่า “ขาขึ้น” นั้นแสนสบาย แต่“ขาลง” นั้นช่างลำบากซะจริงๆ … คงเป็นสัจธรรมกระมังค่ะ

 

 

Credit by  : 2.mtec

บทความอื่นๆ : OUIJA วีจา หรือกระดานวีจา ผีถ้วยแก้วของชาวตะวันตกที่วัยรุ่นนิยมเล่น

Comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.