จุดเริ่มต้น และสาเหตุ การฆ่าตัวตาย ในวัยรุ่นไทย

การฆ่าตัวตาย Suicide หรือ การฆ่าตัวตายสำเร็จ (completed suicide) หมายถึง การตั้งใจทำร้ายตนเองด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง เป็นผลให้ตัวเองตาย

ส่วนการพยายามฆ่าตัวตาย (attempted suicide) หมายถึง การทำร้ายตนเองแต่ไม่ตาย เด็กที่ฆ่าตัวตายสำเร็จและเด็กที่พยายามฆ่าตัวตายไม่สำเร็จมีลักษณะบางอย่างคล้ายคลึงกัน แต่บางอย่างแตกต่างกัน อย่างไรก็ตามเด็ก 2 กลุ่มนี้ มีความสัมพันธ์กัน มีการศึกษาพบว่า 1 ใน 3 ของเด็กที่ฆ่าตัวตายสำเร็จเคยพยายามฆ่าตัวตายมาก่อนแล้ว หรือกล่าวได้ว่าเด็กที่พยายามฆ่าตัวตายเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตายสำเร็จ

การฆ่าตัวตาย

วัยรุ่นมีความเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าเด็ก เด็กชายและวัยรุ่นชายฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่า เด็กหญิงและวัยรุ่นหญิง ซึ่งวิธีการฆ่าตัวตายของวัยรุ่นชายมักทำโดยการยิงตัวตายหรือการแขวนคอ และรุนแรงกว่าการกินยาหรือกระโดดตึกซึ่งมักทำโดยวัยรุ่นหญิง

เหตุกระตุ้นให้เด็กและวัยรุ่นฆ่าตัวตายสำเร็จ ได้แก่ การถูกจับว่าทำความผิดหรือโดนคาดโทษ การถูกดูถูกหรือเยาะเย้ยจากเพื่อน การทะเลาะหรือการถูกตัดสัมพันธ์จากคู่รัก ความไม่เข้าใจในครอบครัว ปัญหาที่โรงเรียน และการได้ยินหรือเห็นคนใกล้ชิดหรือบุคคลที่มีชื่อเสียงหรือตัวละครทางโทรทัศน์ฆ่าตัวตายสำเร็จ อย่างไรก็ตาม เด็กและวัยรุ่นส่วนหนึ่ง เป็นโรคซึมเศร้าและฆ่าตัวตายโดยไม่มีเหตุกระตุ้น

เมื่อไรที่เด็กพยายามฆ่าตัวตาย  นั่นเป็นสัญญาณบอกว่า ความเครียดนั้น มากมาย เกินกว่าจะรับมือได้ การพยายามฆ่าตัวตาย เป็นการส่งสัญญาณว่า  “หนูไม่ไหวแล้ว” 

ปัจจัย และสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้เด็ก คิดและอยากฆ่าตัวตาย

  • ครอบครัวเป็นต้นเหตุเด็กฆ่าตัวตาย พ่อแม่ด่าทอ – ไม่มีเวลาให้ – กดขี่ – เครียด – ไร้ค่า
  • พูดจาไม่ให้เกียรติกันและกัน ดูถูกเหยียดหยาม
  • การขาดเพื่อนหรือการถูกปฏิเสธไม่ยอมรับ หรือถูกทำให้เสียหน้า
  • การกระทำทารุณทั้งการถูกทำร้ายร่างกาย และถูกล่วงเกินทางเพศ

วัยรุ่นที่พยายามฆ่าตัวตายแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มหนึ่งมีอาการซึมเศร้า ท้อแท้ สิ้นหวัง มีความตั้งใจที่จะฆ่าตัวตายสูง และวางแผนที่จะฆ่า

อีกกลุ่มหนึ่ง เป็นวัยรุ่นที่มีปัญหาการปรับตัวและปัญหาความประพฤติ ไม่มีอาการท้อแท้สิ้นหวัง แต่พยายามฆ่าตัวตายในลักษณะหุนหันพลันแล่นและขาดความยั้งคิด

มีการศึกษาเกี่ยวกับวิธีคิดและการแก้ปัญหาของวัยรุ่นที่พยายามฆ่าตัวตายพบว่า การแก้ปัญหาไม่ได้และท้อแท้สิ้นหวังอาจเป็นอาการหนึ่งของของภาวะซึมเศร้า แต่ก็พบว่าเด็กที่พยายามฆ่าตัวตายส่วนใหญ่ไม่มีความยืดหยุ่นในการแก้ปัญหา มองปัญหาในแง่ร้าย หมกมุ่นคิดถึงแต่ปัญหา และคิดฝันจะให้ปัญหาหมดไปเอง โดยไม่พยายามหาวิธีที่จะแก้มัน

แต่เด็กบางคนอาจมีปัญหาในเรื่องการปรับตัว การเปลี่ยนสภาพแวดล้อม บางครั้งเข้าข่ายเป็นโรคภาวะการปรับตัวผิดปกติ (adjustment disorder) คือ จะมีความสามารถในการปรับตัวต่ำ บางครั้งพบในผู้สูงอายุได้ด้วย แสดงอาการหลายอย่าง เช่น ซึมเศร้า ดื้อ ใช้อารมณ์ ใช้ความรุนแรง ซึ่งอาการเหล่านี้ บอกได้ยากว่าเกิดขึ้นกับเด็กกลุ่มใด ต้องใช้การสังเกตุเฝ้าระวังอาการที่ผิดปกติไป

และสิ่งที่สำคัญที่สุด คือเรื่องการเก็บอาวุธปืน ควรเก็บให้พ้นมือและลับตาเด็ก เพราะปัจจุบันมีกรณีการใช้ความรุนแรงที่นำอาวุธปืนมาเกี่ยวข้อง ซึ่งเด็กอาจจะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่ได้ตั้งใจ แต่เมื่อการที่เด็กได้สัมผัสอาวุธ ไม่ว่าจะเป็น ปืน มีด หรือ อาวุธอื่นๆ ก็อาจก่อให้เกิดเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงได้

เมื่อถึงจุดที่เด็กรู้สึกว่าจัดการกับความเครียดตัวเองไม่ได้ เด็กย่อมต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งแน่นอนที่สุด ครอบครัวย่อมเป็นแหล่งประคับประคองที่สำคัญ ก่อนอื่นครอบครัวต้องสังเกตว่า เด็กมีความเครียดหรือซึมเศร้า มากน้อยเพียงใด หากเด็กมีอาการดังกล่าว ต้องให้ความสำคัญ ไม่ควรตัดบท

และสิ่งที่ดีที่สุดในการป้องกันการฆ่าตัวตายในเด็กคือ สัมพันธภาพที่ดีภายในครอบครัวสัมพันธภาพที่ดี จะเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ จะช่วยป้องกันไม่ให้เด็กตัดสินใจคิดสั้น หรือฆ่าตัวตาย

บทความอื่นที่น่าสนใจ : เด็กโดนล้อ – ฆ่าตัวตาย จัดการอย่างไรดี

Comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.